Last updated: 21 ก.ค. 2564 | 6206 จำนวนผู้เข้าชม |
พระอาจารย์สุรพจน์ สัทธาธิโก ::
.. เราต้องเรียนรู้ว่า พระพุทธเจ้าต้องการสอนอะไร?
พระพุทธองค์สอนเรื่องของจิต ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เกิด-ดับเป็นภายใน ให้รู้ว่าทุกสิ่งที่เชื่อมโยงกันนั้น ไม่มีอะไรเป็นตัวตนที่แท้จริง
รู้สึกกระแสเกิด-ดับ วุ้บๆ .. กระแสที่มือ .. รู้สึกถึงกระแสที่เชื่อมโยงกันได้ ไม่ได้เป็นเรา เป็นเขา หรือเป็นใคร นี่เรียกว่า เห็นตามความเป็นจริง
สมาธิแบบแรก คือ สมาธิที่เป็นไปเพื่อความสุข หรือความสงบในปัจจุบันเฉยๆ ฉะนั้นบางทีในกรณีที่เรานั่งในห้องพระ .. สงบละ .. แต่พอเรามีความคิดเยอะๆ เราก็รู้สึกว่านั่งไม่ได้แล้ว นั่งไม่สงบ นั่งไม่ค่อยได้หรือเสียงดังหน่อย เราก็นั่งไม่ค่อยได้แล้ว รู้สึกว่าไม่สงบ
...พระพุทธเจ้าตรัสว่า แต่ก่อนก็ฝึกสมาธิอยู่ พอฝึกเสร็จ เหมือนเอาก้อนหินมาทับหญ้าไว้ พอทับหญ้าแล้วเป็นอย่างไร? หญ้าก็ไม่โตขึ้น ....พอเอาก้อนหินออก หญ้ามันก็....โตขึ้นมาใหม่
เช่นเดียวกัน พอนั่งสมาธิ นั่งเสร็จแล้วสบายไม่คิดอะไร พอออกสมาธิมันก็.... คิดโน่น คิดนี่ คิดโน่น คิดนี่อีก มันก็ยังกลับมาอีก พระพุทธเจ้าตรัสว่า ยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์
แบบที่สอง.. ในกรณีที่คนทุกคนยังนิ่งอยู่ นิ่งเสร็จแล้วเห็นแสงได้ เห็นแสงบางคนเห็นภาพได้ บางคนเห็นนรกสวรรค์ได้ เรียกว่า สมาธิที่เป็นไปเพื่อญาณทัสสนะ แต่ยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แต่เห็นได้
สมาธิแบบที่สาม .. เห็นเวทนา สัญญา วิตก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป .. กรณีที่นั่ง แล้วมันเจ็บ แต่ก็สามารถนั่งแล้วผ่านความเจ็บไปได้ เห็นเวทนามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ...นี่เขาเรียกว่า สมาธิที่ได้สติสัมปชัญญะ
ตอนที่พระพุทธเจ้าทรมานร่างกายอยู่ พระพุทธองค์ตรัสว่า เราทรมานร่างกายของเราเอง ด้วยการกัดฟันด้วยฟัน กลั้นลมหายใจต่างๆ ทรมานตัวเอง .. สติเราเองไม่เคลื่อนเลย แต่ว่าจิตเราเอง..ยังไม่หลุดพ้น .. สตินำหน้าสัมปชัญญะ สติมาก สัมปชัญญะน้อย ได้ความนิ่ง.. ได้สติสัมปชัญญะ แต่ยังพ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะอะไร .. เพราะมีเหตุ คืออวิชชา คือความไม่รู้ ..ไม่รู้สัจธรรมนั่นเอง
แล้วก็จะดับทุกข์ทำยังไง?
พระพุทธองค์ได้พบหนทาง คืออริยมรรคนั่นเอง คือเห็นความไม่เที่ยงไปเนืองๆ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ... เพียรที่จะเห็นถึงความรู้สึกที่ไม่เที่ยง เกิด-ดับไปเนืองๆ สัมปชัญญะนำหน้า ความรู้สึกจะมาก สัมปชัญญะจะเป็นตัวเห็นถึงความรู้สึกเกิด-ดับ สติก็จะมาระลึกรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น
สมาธิที่เกิดขึ้นจึงเป็นสมาธิที่เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในปัจจุบันขณะ เรียกว่า เห็นสัจธรรมตามความเป็นจริง เมื่อเห็นอย่างนี้จึงเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายจึงคลายความยินดี.. เมื่อคลายความยินดีจึงหลุดพ้น พระองค์จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น ที่พูดว่าฝึกจิต ไม่ใช่นั่งสมาธิแค่สงบเฉยๆ ก็คือ สมาธิแบบที่4 คือเป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะกิเลส คือ ที่เห็นการเกิด และการดับไป เห็นแล้วว่าทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะมีเหตุเป็นแดนเกิด คือความเพลิดเพลินยินดี ความถือมั่นจึงเกิดขึ้น ภพชาติจึงเกิดขึ้น เมื่อดับเหตุแห่งความเพลิดเพลินยินดี ความถือมั่นก็ดับ ภพชาติทั้งหลายก็ดับ ทุกข์ก็ดับ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ฌาน....ย่อมมีแก่ผู้มีปัญญา” “ผู้มีปัญญา.....ย่อมมีฌาน” “ฌานและปัญญามีในผู้ใด....ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้พระนิพพาน”
ไม่ใช่ฌานธรรมดา ไม่ใช่ฌานที่แบบนิ่งๆ นิ่ง...เข้าไปเฉยๆ นี่เขาเรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน คือ ฌาณที่เป็นเพ่งอารมณ์ต่างๆ เพ่งดิน เพ่งนํ้า เพ่งลม เพ่งไฟ เพ่งลมหายใจ แต่เป็น ลักขณูปนิชฌาน.... ฌานที่เห็นพระไตรลักษณ์ เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญากับฌานจึงเดินคู่กันไป เกิดและดับไปเนืองๆ ฌานนี้ มันมีปัญญาเห็นความไม่เที่ยงไปด้วย ในความที่นิ่งเข้าไป นิ่งเข้าไป มันเห็นความไม่เที่ยง รู้สึกไปด้วย เห็นความแตกดับไปทุกขณะของชีวิต
เพราะฉะนั้น เราไม่ใช่ว่าเข้าฌานไปพอนิ่งๆ แล้วถอย ออกมาพิจารณา นั่น.... คิดพิจารณา ปัญญามี 3 ระดับ ..
สุตามยปัญญา....ปัญญาเกิดจากการฟัง พอฟังเสร็จแล้วเราก็คิด เรียกว่า จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณา เช่นเข้าฌานไปแล้ว ถอยออกมาพิจารณา
ภาวนามยปัญญา
ที่เราฝึกจิตเรียกว่า ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการเห็นสัจธรรมตามความเป็นจริง คือเห็นถึงความรู้สึกไม่เที่ยงเกิด-ดับ เป็นภายในไปเนืองๆ
ฉะนั้นที่ถามว่า ฝึกจิตกับนั่งสมาธิ ต่างกันตรงนี้.. ที่ฝึกจิตของพระพุทธเจ้า สมาธิกับปัญญาคู่กัน หรือเรียกว่า ฌานกับปัญญาคู่กัน หรือจะเรียกว่า ฌานกับปัญญาญาณคู่กันก็ได้ เรียกปัญญาญาณ ก็คือญาณในการสิ้นกิเลส ที่ทำไปพร้อมๆกัน
4 ก.พ. 2567
21 มี.ค. 2565
22 มี.ค. 2565
29 พ.ค. 2567